วิธีอ่านใบเซอร์เพชร
แบบฉบับผู้เชี่ยวชาญ

วิธีอ่านใบเซอร์เพชร

วิธีอ่านใบเซอร์เพชร แบบฉบับผู้เชี่ยวชาญเพชร

เมื่อคุณกำลังพิจารณาซื้อเพชร สิ่งสำคัญอย่างแรกคือ ใบรับรองเพชรหรือใบเซอร์เพชร ใบเซอร์เพชรเป็นสิ่งที่ใช้แสดงคุณลักษณะเฉพาะของเพชร ปกติเพชรแต่ละเม็ดจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คุณลักษณะเหล่านี้ทำหน้าที่เสมือนเป็นลายนิ้วมือเป็นตัวกำหนดมูลค่าของเพชร และทั้งหมดถูกบันทึกไว้ในใบรับรองเพชร ซึ่งใบเซอร์เพชรจะถูกออกโดยสถาบันเพชรระดับโลกอย่าง GIA (Gemological Institute of America) ที่ได้รับความไว้วางใจทั่วโลก และเป็นที่ชื่นชอบในหมู่ผู้ผลิตอัญมณีที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก

ใบรับรองเพชร GIA ไม่เพียงแต่ให้หมายเลขใบรับรองที่แน่นอนเท่านั้น แต่ยังบอกน้ำหนักกะรัต สีของเพชร เกรดการเจียระไน ความใสของเพชร และอื่นๆ อีกมากมาย บทความนี้จะอธิบายวิธีการอ่านใบรับรองเพชร GIA อย่างละเอียด ตามช่างอัญมณีผู้เชี่ยวชาญ คุณสามารถมั่นใจได้ว่าข้อมูลที่ระบุไว้ในใบรับรองเพชรนั้นถูกต้อง จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่อาจมาหลอกขายเพชรปลอม หรือเพชรคุณภาพต่ำ

มาตรฐานสากลใบเซอร์ GIA 

ใบเซอร์ GIA คือ ใบรับรองคุณภาพเพชรที่ออกโดยสถาบัน GIA (Gemological Institute of America) หรือ GIA ก่อตั้งขึ้นในปี 2474 เป็นสถาบันชั้นนำระดับโลกด้านเพชรและอัญมณี สถาบัน GIA เป็นองค์กรที่ดำเนินงานแบบไม่แสวงหาผลกำไร และเป็นสถานบันที่รักษามาตรฐานสูงสุดที่อุตสาหกรรมเพชรทั่วโลกต่างยอมรับ สถาบัน GIA เป็นผู้พัฒนาหลักการประเมินคุณภาพ 4Cs และสร้างระบบการให้คะแนนเพชรและอัญมณี  เพชรแต่ละเม็ดที่ GIA รับรองจะได้รับการตรวจสอบโดยนักอัญมณีศาสตร์ที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดีและมีประสบการณ์ เพชรแต่ละเม็ดที่ GIA ให้คะแนนจะมาพร้อมกับรายงานการวัดผล GIA รายงานนี้มีรายละเอียดเกี่ยวกับ 4Cs ของเพชร (การเจียระไน สี ความใส และน้ำหนักกะรัต) ตลอดจนรายละเอียดเกี่ยวกับการขัดเงา ความสมมาตร และการเรืองแสงของหิน รายงานส่วนใหญ่มักประกอบด้วยไดอะแกรมของเพชรซึ่งบ่งบอกถึงลักษณะความใส ไดอะแกรมสัดส่วน และมาตราส่วนการให้คะแนนของ GIA ซึ่งใบเซอร์เพชร GIA จะมีอยู่ 2 แบบ:

GIA Diamond Grading Report (ใบเซอร์ใหญ่)

Grading Report เป็นใบเซอร์ที่ GIA นิยมออกให้สำหรับเพชรที่มีน้ำหนักมากกว่า 1 กะรัต โดยจะมีแผนภาพประกอบระบุตำแหน่งของตำหนิเพชรอย่างชัดเจน โดยที่อาจจะมีหรือไม่มี Laser Inscription บนขอบเพชรก็ได้ 

ในบางครั้ง คุณอาจมีโอกาสได้พบกับเพชรที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 1 กะรัต แต่มีใบเซอร์ใหญ่ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ค่าใช้จ่ายในการออกใบเซอร์ใหญ่นั้นสูงกว่าใบเซอร์เล็กพอสมควร คุณจึงมักจะพบเจอใบเซอร์ใหญ่สำหรับเพชรที่ใหญ่กว่า 1 กะรัตเป็นหลัก

GIA Diamond Dossier (ใบเซอร์ฉบับย่อ)

Dossier เป็นใบเซอร์ที่ GIA นิยมออกให้สำหรับเพชรที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 1 กะรัต โดยจะไม่มีแผนภาพประกอบระบุตำแหน่งของตำหนิเพชร แต่ยังคงมี Laser Inscription บนขอบเพชรเพื่อให้คุณสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ด้วยตัวเอง และ คุณยังคงสามารถตรวจดูใบเซอร์แบบดิจิทัลได้ทางเว็บไซต์ gia.edu

วิธีอ่านใบเซอร์ GIA แบบมือโปร

วิธีการอ่านใบเซอร์ GIA HRD IGI AGS ฯลฯ จะมีความคล้ายคลึงกันมาก เพราะยึดหลักการเดียวกันมาจาก GIA เพียงแต่จะมีบางจุดที่ใช้ศัพท์ต่างกันเพียงเล็กน้อย โดยส่วนมากทุคนคงจะมีโอกาสได้พบเซอร์ GIA บ่อยกว่าใบเซอร์จากสถาบันอื่น เมื่อเรารู้วิธีการอ่านใบเซอร์ GIA ได้แล้ว คุณก็จะสามารถอ่านใบเซอร์เพชรสถาบันอื่นได้เช่นกัน

ใบเซอร์เพชร GIA

1.ชื่อสถาบันผู้ออกใบเซอร์

สิ่งแรกที่คุณควรสังเกต คือชื่อสถาบันผู้ออกใบเซอร์ เพราะมีผลต่อความน่าเชื่อถือในแง่ของความแม่นยำในการให้คะแนนเพชร ซึ่งถ้าหากคุณซื้อเพชรราคาถูกแบบไม่มีใบเซอร์ หรือ มีใบเซอร์จากสถาบันที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียง ก็มีความเป็นไปได้ที่การให้คะแนนจะไม่ตรงกับความเป็นจริง

สำหรับวงการเพชรในประเทศไทยแล้ว สถาบันที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ก็คือ GIA และ HRD

เพชรเซอร์ GIA

GIA หรือ Gemological Institute of America เป็นองค์กรแบบไม่แสวงหาผลกำไร ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปีค.. 1931 ในประเทศสหรัฐอเมริกา 

เพชรเซอร์ HRD

HRD หรือ Hoge Raad voor Diamant (Diamond High Council) เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีพันธกิจเดียวกันกับ GIA โดยก่อตั้งขึ้นในปีค.. 1973 ในประเทศเบลเยียม 

2. เลขใบเซอร์ รูปทรงเพชร และสัดส่วน

เลขใบเซอร์

รายละเอียดต่อไปที่คุณจะได้พบ คือเลขใบเซอร์ (Report Number) ซึ่งเปรียบเสมือน Serial Number ที่ใช้สำหรับระบุข้อมูลของเพชรแต่ละเม็ด โดยจะมีเลขเดียวกันกับที่คุณจะพบบนเลเซอร์ขอบเพชร (Laser Inscription)

ทั้งสถาบัน GIA และ HRD จะเก็บข้อมูลทั้งหมดไว้ในคลังข้อมูลออนไลน์ โดยคุณสามารถเข้าเว็บไปตรวจสอบได้ทุกเมื่อ ดังนี้:

ตรวจสอบเลขใบเซอร์ GIA: https://www.gia.edu/report-check-landing/

ตรวจสอบเลขใบเซอร์ HRD: https://my.hrdantwerp.com/

รูปทรงเพชร และสัดส่วน

ในบรรทัดต่อมา คุณจะพบข้อมูลเกี่ยวกับรูปทรงเพชร และสัดส่วนของเพชรที่วัดด้วยหน่วยมิลลิเมตร

เพชรที่คนส่วนใหญ่นิยมซื้อ คือ เพชรกลม โดยในใบเซอร์จะระบุเป็นภาษาอังกฤษว่า Round Brilliant

3. หลักสำคัญ: 4C’s of Diamonds

ส่วนต่อมา เป็นส่วนที่มีความสำคัญมากที่สุดเกี่ยวกับเพชร นั่นก็คือรายละเอียดเกี่ยวกับ 4C: Carat, Color, Clarity และ Cut เรียงตามลำดับ

Carat

Carat หมายถึงน้ำหนักของเพชร ซึ่งวัดเป็นหน่วยกะรัตเสมอ (1 กะรัต = 0.2 กรัม) โดย 1 กะรัตจะมีค่าเท่ากับ 100 ตัง (ความหมายเดียวกันกับ 1 บาทที่แปลงได้เป็น 100 สตางค์) หลายคนนิยมเรียกน้ำหนักเพชรด้วยหน่วยตังกันจนคุ้นเคย เช่น เพชร 50 ตัง ก็คือเพชร 0.50 กะรัตนั่นเองน้ำหนักกะรัตของเพชร จะส่งผลต่อความใหญ่ของเพชรโดยตรง ยิ่งกะรัตมากเท่าไรเพชรก็จะยิ่งเม็ดใหญ่มากเท่านั้น

 Color

Color คือการวัดว่าเพชรมีความขาวมากแค่ไหน ซึ่งความขาวนี้จริงๆแล้วหมายถึงการไม่มีสี แต่หากมีสีเจือปนก็จะออกเป็นสีเหลือง โดยจะวัดด้วยมาตรฐาน D to Z Grading เรียงจาก D Color ลงมาดังนี้:

D Color = เพชรน้ำ 100%

E Color = เพชรน้ำ 99%

F Color = เพชรน้ำ 98%

G Color = เพชรน้ำ 97%

H Color = เพชรน้ำ 96%

I Color = เพชรน้ำ 95%

คุณสามารถไล่เปอร์เซ็นต์น้ำเพชรลงไปได้เรื่อยๆ เริ่มต้นด้วย D เป็นตัวอักษรแรก ไปจนถึง Z เป็นอักษรสุดท้าย เพราะฉะนั้นเพชร D Color คือเพชรที่ขาวที่สุดและมีมูลค่าสูงที่สุด ส่วนเพชร Z Color คือเพชรที่เหลืองและมีมูลค่าน้อยที่สุด

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเพชรสีเหลืองจะไม่ดี เพราะหากเพชรมีสีเหลืองมากจนพ้น Z Color ไปแล้ว จะใช้เป็น Fancy Color Grading Scale แทน ซึ่งโดยทั่วไปเพชร Fancy Color จะมีราคาสูง และหายากมาก

Clarity

Clarity หมายถึงความสะอาดของเพชร โดยนักอัญมณีศาสตร์จะเป็นผู้ให้คะแนนด้วยกล้องขยาย 10 เท่า เพื่อวิเคราะห์หาตำหนิ จุดดำ หรือร่องรอยอันไม่พึงประสงค์ภายในเพชร

โดยทั่วไป Clarity ของเพชรที่นิยมสะสม จะอยู่ระว่าง VVS1/2 – VS1/2 เพราะเป็นคุณภาพที่ถือว่าสะอาด และมีมูลค่าสมราคาที่สุด หากต่ำลงไปมากกว่านี้ เช่น SI คุณจะมีโอกาสมองเห็นตำหนิบนเพชรได้ด้วยตาเปล่า

Cut

Cut หมายถึงคุณภาพในการเจียระไนเพชร ซึ่งจะมีระบุตั้งแต่ Excellent ไปจนถึง Poor ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ส่วนของการที่จะเป็นเพชร 3 Excellent

บ่อยครั้งที่คุณคงจะได้เห็นเพชรขาว แต่กลับดูแล้วหมองๆ ไม่เล่นไฟ นั่นก็เป็นเพราะ Cut ยังไม่ดีพอนั่นเองสำหรับมืออาชีพส่วนใหญ่ จึงให้ความสำคัญกับ Cut มากที่สุดใน 4C’s of Diamonds ทั้งหมด เพราะจะส่งผลต่อประกาย และความเล่นไฟของเพชรโดยตรง

4. ข้อมูลเพิ่มเติม และหมายเหตุ

Polish และ Symmetry เป็นอีก 2 ใน 3 ปัจจัยสำคัญของเพชรที่จะเป็น 3 Excellent

Polish

Polish นั้นหมายถึงความเรียบของพื้นผิวเพชร หากเพชรมีพื้นผิวเรียบเนียนก็จะทำให้สามารถสะท้อนไฟได้อย่างชัดเจน และไม่ดูผิดเพี้ยนไป 

Symmetry

Symmetry คือความสมมาตรของหน้าเพชรทั้งหมด เพชรที่มีความสมมาตรดีเวลาส่องไฟลงไปแล้ว แสงจะตกกระทบตามองศาได้อย่างถูกต้อง ทำให้ดูมีประกายไฟมากกว่าเพชรที่ไม่สมมาตร

Fluorescence

Fluorescence หมายถึง ปฏิกิริยาที่เพชรแสดงออกมา เมื่อได้รับการกระตุ้นจากแสง UV โดยทั่วไป เพชรที่ติด Fluorescence จะดูแล้วออกเป็นสีฟ้าๆ เพราะฉะนั้นเพชรที่ไม่ติด Fluorescence จึงได้รับความนิยมมากกว่าเพชรที่ติด Fluorescence

lnscription

ส่วนนี้ จะเป็นส่วนที่บอกว่าบนขอบเพชรของคุณมีการยิงเลเซอร์อะไรลงไปบ้าง ซึ่งโดยปกติแล้ว เพชรที่มีใบเซอร์จะยิงคำว่า GIA พร้อมตัวเลข 10 หลัก ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับ GIA Report Number เพื่อให้คุณตรวจสอบได้ในภายหลัง

Comments

ส่วนนี้จะเป็นการระบุรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อขยายความในส่วนของ Clarity ว่าเพชรเม็ดนั้นมีตำหนิรูปร่างเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าไหร่

5. แผนภาพตำหนิ

Proportions

ในส่วนนี้ จะมีข้อมูลที่ระบุถึงสัดส่วนต่างๆของเพชรไว้เป็นเปอร์เซ็นต์ โดยข้อมูลหลักๆจะมี Table % (หน้ากว้าง), Depth % (ความลึก), Angles (องศาต่างๆ) และ Girdle Thickness (ความหนาของขอบเพชร) สิ่งสำคัญที่คุณควรสังเกต คือ Table% เพราะเป็นสัดส่วนที่ทำให้เพชรดูสมส่วนและเล่นไฟได้ดีที่สุด ถ้าหากน้อยกว่านี้จะทำให้หน้าเพชรดูเล็กเกินไปไม่ค่อยรับแสง แต่ถ้าหากใหญ่กว่านี้จะทำให้ หน้าเพชรกว้างเกินไปจนเสียสมดุล นอกจากนี้คุณควรจะตรวจสอบในส่วนของ Cutlet (ก้นเพชร) ว่าเป็น None (ไม่มี) เพราะการมีก้นเพชรหนาจะทำให้แสงไฟที่สอดส่องเข้าไปในเพชรลอดออกมา ส่งผลให้เล่นไฟได้ไม่ดีเท่าที่ควร

Clarity Characteristics

ในใบเซอร์ใหญ่ จึงมีการระบุตำแหน่งของตำหนิไว้บน Clarity Plot Diagram เพื่อให้คุณสามารถดูลักษณะพิเศษของเพชรเม็ดนั้นได้อย่างสะดวก 

Blemishes (ตำหนิภายนอก) จะระบุไว้ด้วยหมึกสีเขียว ในขณะที่ Inclusions (ตำหนิภายใน) จะระบุไว้ด้วยหมึกสีแดง

6. เครื่องหมายกันปลอมแปล

ส่วนสุดท้าย ที่คุณควรจะมองหาคือเครื่องหมายตาประทับของสถาบัน (Security Marks) เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นใบเซอร์ของแท้จริงๆ

สำหรับสถาบัน GIA จะปั๊มด้วยเครื่องหมายโลโก้นูนหมึกสีทอง 

สรุป : การรู้เรื่องใบเซอร์เพชร จะทำให้คุณสามารถซื้อเพชรได้อย่างมั่นใจ

หลายคนคงจะทราบแล้วว่า ขั้นตอนในการอ่านวิเคราะห์ใบเซอร์แต่ละส่วนอย่างละเอียดดีอย่างไร เพราะฉะนั้น เมื่อคุณมีโอกาสซื้อเพชรในครั้งต่อไป การมองหาแค่เพชร D Color หรือ 3 Excellent ก็คงจะไม่เพียงพอหากคุณต้องการเพชรที่สวยอย่างแท้จริง เพราะยังมีปัจจัยอีกมากมาย ที่จะส่งผลโดยตรงต่อมูลค่า และความงามของเพชรที่คุณกำลังตัดสินใจซื้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Fluorescence, Good VVS/VS, Table, Depth, Cutlet, Girdle ฯลฯ ซึ่งคงจะเป็นรายละเอียดยิบย่อย ที่หลายอาจไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร แต่ถ้าเราให้ความสำคัญรับรองเราจะได้เพชรที่ถูกใจและเหมาะสมราคาแน่นอน

Image hover effect image

Image hover effect image

555 ซอย โชคชัยจงจำเริญ แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร 10120

Image hover effect image

Image hover effect image

555 ซอย โชคชัยจงจำเริญ แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร 10120

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า